วิเคราะห์การเมือง
พลันที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแปรเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ยากอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการปรับครม.ไปได้
เห็นได้จากการยื่นใบลาออกของ นายอุตตม สาวนายน
ความหมายโดยพื้นฐานก็คือ การเปลี่ยนชื่อของกระทรวง ความหมายโดยพื้นฐานอีกเช่นเดียวกัน ถึงไม่ยื่นใบลาออกแต่เมื่อประกาศและบังคับใช้ผ่านราชกิจจานุเบกษา
นายอุตตม สาวนายน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ไม่มีหนทางอื่น
เมื่อประสานกับ “ข้อมูล” อันเป็นความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะมี “รัฐมนตรีช่วย” อย่างน้อยก็ 1 คน
ยิ่งมองเห็นถึงสภาพกดดันอันเป็นปัจจัยไปสู่การ “ปรับครม.”
คำถามที่เสนอเข้ามาและนายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถามต่อจากนี้เป็นต้นไปก็คือ จะปรับเมื่อไหร่ จะปรับอย่างไร
เป็นการปรับ “ขนาดเล็ก” หรือว่าเป็นการปรับ “ขนาดใหญ่”
หากมองจากสภาพความเป็นจริงในการเกิดขึ้นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเหมือนกับว่าจะเป็นการปรับขนาดเล็ก
แต่หากมองจากสภาพความเป็นจริงในทาง “การเมือง” ก็ไม่แน่
ในทางการเมืองเหมือนกับว่าเสาะหาคนมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ก็น่าจะพอและทุกอย่างก็ยุติอยู่เพียงนั้น
กระนั้น เมื่อคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับและดูแลงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากเดิมคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นคนใหม่คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ก็น่าจะมี “อะไร” มากยิ่งไปกว่านั้น
บทบาทของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านนับว่าทรงความหมายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง
เริ่มเห็นเงาสะท้อนจาก “คสช.” เข้ามาโดดเด่น
เพราะว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ไม่เพียงแต่เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หากแต่ตำแหน่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ ตำแหน่งรองหัวหน้าคสช. รับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจ
นี่เป็นตำแหน่งเดียวกันกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
อย่าได้แปลกใจหากเมื่อ นายอุตตม สาวนายน ยื่นใบลาออกคนที่เข้ารักษาการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
บทบาทนี้อย่าได้ประมาทและมองข้ามอย่างเด็ดขาด
ต้องยอมรับว่าคสช.และรัฐบาลประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงทางการเมือง เห็นได้จากกรณีประชามติ
เป็นความสำเร็จในท่ามกลางความรู้สึก “ร่วม” กันว่า ปัญหาที่ยังเป็นภาระหนักหน่วงของคสช.และรัฐบาลอยู่ก็คือ ปัญหาในทางเศรษฐกิจที่ร่วงโรยมากกว่าจะรุ่งโรจน์
ประเด็นในทาง “เศรษฐกิจ” คือสิ่งที่คสช.และรัฐบาลต้องคิดอย่างหนัก